ป้ายกำกับ
- กฏแห่งกรรม (140)
- ชาดก (162)
- พทุธประวัติ (20)
- พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ (145)
- พระอริยสงฆ์ (4)
- ร่มไทร (11)
- วันสำคัญทางศาสนา (8)
- อานิสงส์ผลบุญ (40)
ผู้ติดตาม
เรื่อง ข้าพเจ้าได้อะไรบ้างจากการปฏิบัติกรรมฐาน
19:51 |
เขียนโดย
Gang of 4wd |
แก้ไขบทความ
:: ภาคกฎแห่งกรรม :: เรื่อง ข้าพเจ้าได้อะไรบ้างจากการปฏิบัติกรรมฐาน
(ตามแนวทางของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)
โดย นาวาเอก (พิเศษ) ไพโรจน์ แก่นสาร
(ตามแนวทางของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)
โดย นาวาเอก (พิเศษ) ไพโรจน์ แก่นสาร
กระผมเป็นชาวสมุทรปราการ ปัจจุบัน (ตุลาคม ๓๘) อายุ ๔๗ ปี รับราชการอยู่ที่กรมสื่อสารทหารเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (ติดกับวัดอรุณราชวราราม) ตำแหน่งหน้าที่ขณะนี้คือ ผู้ช่วยเจ้ากรมสื่อสารทหารเรือ ระหว่างปี ๒๕๒๑-๒๕๒๓ กองทัพเรือกรุณาส่งไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการจัดการระบบโทรคมนาคม (Telecommunications System Management) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นในปลายปี ๒๕๓๙ หลังจากจบการศึกษาในหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือซึ่งใช้วเวลาเรียน ๑ ปีเต็มแล้ว ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือของประเทศอังกฤษอีกราว ๑ ปี หลังสุดเข้ารับการศึกษาในวิทยาลัยการทัพเรือเกือบ ๑ ปี จบหลักสูตรปลายเดือนกันยายน ๒๕๓๘ ในด้านหน้าที่ราชการนั้น ได้ผ่านงานในกองทัพเรือมากมายหลายตำแหน่งพอสมควร ทั้งหน่วยเรือ หน่วยบก หน่ายกำลังรบ หน่วยศึกษา และหน่วยสนับสนุน เช่น เป็นผู้บังคับการเรือหลวงแม่กลอง เป็นอาจารย์โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการกองส่งกำลังบำรุง (กองเรือยุทธการ) และเป็นผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน (กรมสื่อสารทหารเรือ) เกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐานนั้น กระผมเริ่มเป็นครั้งแรกที่วัดอัมพวันเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ โดยยึดแนวคำสอนของหลวงพ่อจรัญเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม ๒๕๓๘) ได้เข้าปฏิบัติกรรมฐานที่อารามแห่งนี้ รวม ๓ ครั้ง ครั้งแรก ๗ วัน เมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๓๗ ดังที่กล่าวแล้ว ครั้งที่ ๒ เพียง ๓ วัน ราวต้นพฤษภาคม ๒๕๓๘ และครั้งหลังสุด อีก ๗ วัน เมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๓๘ ตั้งใจว่า ก่อนบทความนี้จะผ่านสายตาท่านในวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ (๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๙) จะหาโอกาสเข้าปฏิบัติธรรมที่วัดอีกสักครั้ง-สองครั้ง อย่างไรก็ตามหลังจากมอบตัวเป็นศิษย์กรรมฐานของหลวงพ่อจรัญแล้ว ก็พยายามหาโอกาสปฏิบัติที่บ้านอยู่เสมอ แม้จะทำได้ไม่มากนัก แต่ก็พยายามรักษาความต่อเนื่องไว้ เท่าที่ผ่านมาได้รับความรู้และประสบการณ์แปลกใหม่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจ ทั้งของตนเองและของผู้คนโดยทั่วไปมากพอสมควร จึงใครขอนำมาถ่ายทอดต่อ ตามที่เห็นว่าเหมาะสมดังต่อไปนี้
ในการปฏิบัติสองครั้งแรก สิ่งที่ได้รับค่อนไปทางความรู้มากกว่าความเข้าใจ ต้องต่อสู้กับเวทนามากพอสมควร กำหนดได้ไม่ดีนัก ทั้งในด้านอารมณ์ฟุ้งซ่านต่าง ๆ และความเมื่อยปวดมึนชาอีกหลายรูปแบบ แต่สิ่งมีค่าที่ได้รับคือความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งในความเป็นทหารอาชีพของกระผมเท่าที่ผ่านมา ก็ได้รับการฝึกฝนอบรมด้านนี้มามากพอสมควรแล้ว หลังจากเริ่มปฏิบัติกรรมฐานจึงพบว่า ความเข้มแข็งอดทนที่มีอยู่เดิมนั้นไม่มากเท่าใดเลย เพราะไม่อาจช่วยให้นั่งสมาธิได้ครบครึ่งชั่วโมง โดยไม่เปลี่ยนท่านั่งด้วยซ้ำไป ในระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติ ความปวดเมื่อยทรมานระหว่างการปฏิบัติกรรมฐาน ช่างผิดแผกแตกต่างไปจากอาการที่เคยประสบจากการฝึกหรือการทำงานโดยทั่วไปอย่างมากมาย มันเป็นความรู้สึกที่คล้ายจะทนไม่ได้ ปวดลึก ๆ ที่ก้นกบบ้าง โคนขา ตามขาและที่ข้อเท้าบ้าง บทจะหายก็หายอย่างปลิดทิ้งโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ย้ายไปปวดที่จุดอื่นต่อไปอีก เป็นเช่นนี้อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะในวันแรก ๆ ของการปฏิบัติ ดีขึ้นบ้างในวันหลัง ๆ เมื่อกลับมาปฏิบัติที่บ้านโอกาสเดินจงกรมมีน้อยมาก ทำได้เพียงการนั่งสมาธิหลังการสวดมนต์ในแต่ละวัน ที่บ้านบ้าง ที่ทำงานบ้าง พบว่า มีสมาธิดีขึ้น สามารถนั่งสมาธิได้นานประมาณ ๑ ชั่วโมง โดยไม่ต้องต่อสู้กับเวทนาเท่าใดนัก แต่ด้านสตินั้น ยังเห็นความก้าวหน้าไม่ชัดเจน กำหนด “พองหนอ – ยุบหนอ” ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ แต่ก็ไม่เคยคิดล้มเลิกความพยายาม เชื่อว่าสักวันคงดีขึ้นพร้อมกับแอบลำพองในใจลึก ๆ ว่า เข้าวัดปฏิบัติกรรมฐานครั้งต่อไป เราคงไม่ต้องทนทุกขเวทนาจากอาการปวดเมื่อยเช่นที่เคยประสบมาอีกแล้ว เพราะเมื่อสามารถนั่งสมาธิได้ถึง ๑ ชั่วโมง ก็น่าจะพอตัวแล้วสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่อย่างเรา
การปฏิบัติในครั้งนี้ช่วยให้ระลึกถึงเวรกรรมต่าง ๆ ที่เคยสร้างไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ ได้หลายเรื่องอันเป็นผลจากเวทนาที่ได้รับนั่นเอง บางเรื่องก็ลืมไปนานแล้ว เช่นการจับแมลงทับหงายท้องแล้วหมุนตัวให้มันกระพือปีก เรียกว่า “แมลงทับไถนา” เพราะมันพยายามจะบินแต่ก็บินไม่ได้ด้วยถูกจับหงายท้องอยู่ มันต้องแอ่นตัวเต็มที่ที่กระพือปีกอย่างแรง และไถต้นคอไปกับพื้น ด้วยเชื่อว่าจะทำให้พลิกคว่ำและบินหนีความทรมานไปได้ เรากลับรู้สึกสนุกจับเวลาแข่งกันกับเพื่อนว่า แมลงทับของใครจะไถนาได้ทนกว่ากัน ผลที่เกิดขึ้นเพื่อเตือนให้นึกถึงเรื่องนี้คือ ระหว่างเดินจงกรม มีอาการปวดเมื่อยอย่างมากมายที่บริเวณต้นคอและหัวไหล่ทั้งสองข้าง ในขณะที่นั่งสมาธิก็มีอาการปวดรุนแรงที่กระดูกสันหลังบริเวณใต้เข็มขัดถึงก้นกบ กำหนดด้วยการภาวนา “ปวดหนอ ๆ” กี่ครั้งก็ไม่ทุเลา ต้องบิดตัวถูไปมาครั้งแล้วครั้งเล่าคล้ายกับอาการของ “แมลงทับไถนา” ทั้งที่ไม่อยากทำให้เสียสมาธิ ช่วยให้ทุเลาลงบ้าง แต่ก็ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ไม่นานอาการเดิม ๆ ก็กลับมาอีก คิดถึงคำของหลวงพ่อว่า “ตายเป็นตาย ยังไม่เคยมีใครตายเพราะเวทนาในห้องกรรมฐาน ถ้าตายจริงก็ไม่ตกนรก เพราะตายอย่างมีสติ” จึงฮึดสู้ไยอมลืมตาหรือลุกจากสมาธิก่อนกำหนด เฝ้ารอแต่เสียงสัญญาณหมดเวลานั่งในแต่ละช่วง เพื่อเปลี่ยนเป็นเดินจงกรมหรือแผ่เมตตา สัญญาณดังกล่าวช่างเป็นราวกับเสียงสวรรค์ เวลาแต่ละนาทีที่ผ่านไปสามารถสัมผัสได้อย่างละเอียด ดูมันช่างเชื่องช้าอ้อยอิ่งเสียยิ่งนัก ช่วยให้สำนึกถึงคุณค่ามหาศาลของเวลาที่เราได้เผาผลาญไปอย่างไร้ประโยชน์เสียมากมาย กระผมต้องต่อสู้กับสภาพเช่นที่เล่ามานี้ถึง ๕ วัน ที่นับว่าทรมานทางกายมากก็คือระหว่างนั่งสมาธิ ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติครั้งละ ๑ ชั่วโมงขึ้นไป ปลอดเวทนาอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงแรกเท่านั้น ช่วงที่เหลือก็คือ การต่อสู้กับอาการเช่นที่กล่าวข้างต้น มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่มีอาการปวดโคนขาทั้งสองและกระดูกสันหลังบริเวณกระเบนเหน็บ (ใต้แนวเข็มขัด) เป็นอย่างมากช่วยให้นึกได้ว่าตอนเด็ก ๆ เคยหนีแม่ไปขี่ม้าขาวตัวหนึ่งของน้าอู๊ด ลูกตาสายยายเหลี่ยม ม้าตัวนี้รูปร่างค่อนข้างเล็ก เพราะเป็นม้าแกลบมิใช่ม้าเทศ ด้วยความครึ่งกลัวครึ่งกล้า จึงต้องนั่งซ้อนหลังเจ้าของม้าอีกทีหนึ่ง มันคงรู้สึกปวดเมื่อยทั้งโคนขาและกระดูกสันหลังเช่นที่กระผมกำลังเผชิญอยู่ขณะนั้น เพราะต้องรับน้ำหนักคนถึงสองคนรวมกันแล้ว อาจมากว่าน้ำหนักตัวมันเองเสียอีก จึงขออโหสิกรรมต่อม้าตัวนั้น และสัญญากับตัวเองว่า จะไม่ก่อกรรมทำเข็ญเช่นนี้อีก ต่อมาในบ่ายวันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๘ เวลาใกล้ ๑๔.๐๐ น. ได้สัมผัสกับประสบการณ์และความรู้สึกที่ยากแก่การลืมเลือนในชั่วชีวิตนี้ ขณะที่กำลังนั่งสมาธิอยู่จวนครบชั่วโมง (เริ่มประมาณ ๑๓.๐๐ น.) ต่อสู้กับอาการปวดกระดูกสันหลังมากกว่าครั้งใด ๆ บริเวณใต้แนวเข็มขัดจนถึงก้นกบ ยิ่งกำหนดก็ยิ่งปวด คำภาวนา “ปวดหนอ ๆ...” เหมือนกับเป็นตัวเร่งอาการปวดให้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พยายามใช้การนับเข้าช่วยเพื่อละความสนใจจากการปวด “ปวดหนอ ๑, ปวดหนอ ๒, ปวดหนอ ๓,.... ยังไม่ทันรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ก็เกิดอาการใหม่เข้ามาแทรกคือ จังหวะการหายใจที่ผิดปกติ ลึกรุนแรงและถี่จนเข้ากับจังหวะภาวนา เสียงหายใจคงดังออกไปนอกห้องแรงขึ้น และถี่ขึ้นอย่างบังคับควบคุมไม่ได้ อาการปวดก็มีแนวโน้มว่าจะทวีขึ้นด้วย นับคำภาวนา “ปวดหนอ” ไปได้ประมาณครั้งที่ ๒๐ อาการปวดกระดูกสันหลังที่คล้ายจะทนไม่ไหวอยู่แล้วนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นพลังงานที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน แผ่ซ่านขึ้นสู่เบื้องสูงจนถึงเส้นผม ออกไปทางข้างจนถึงปลายนิ้วมือ รวมทั้งภายในช่องท้องและทรวงอกบางส่วนด้วยมีอาการสั่นด้วยความถี่ที่ค่อนข้างสูงและไม่คงที่ จะรู้สึกชาก็ไม่ใช่ เป็นตะคริวก็ไม่เชิงบังคับไม่ได้ทั้งอาการดังกล่าวและจังหวะการหายใจที่ยังลึกแรงและถี่กว่าปกติ สิ่งเดียวที่ทำได้ขณะนั้นคือ การกำหนด “รู้หนอ ๆ...” ให้มีสติจะได้ไม่ตกใจกับปรากฎการณ์ที่ไม่เคยพบจนถึงจุดหนึ่ง เมื่อนับได้ประมาณ “ปวดหนอ ๕๐” อาการปวดหายไป พร้อมกับการแผ่ซ่านของพลังงานที่บรรยายอาการได้ยากนั้น ค่อย ๆ สงบลง ความรู้สึกใหม่เข้าแทนที่คือ ความปีติตื้นตัน ซาบซึ้งในพระคุณของมารดา บิดา รวมทั้งพระคุณของหลวงพ่อจรัญ และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย บอกกับตัวเองว่า พบแล้วเข้าใจแล้วในสิ่งที่หลวงพ่อพร่ำสอน และสิ่งที่ต้องต่อสู้มาด้วยความเหนื่อยยากยาวนาน บาปบุญคุณโทษทั้งหลาย ช่างประจักษ์แจ้งแก่ใจในขณะนั้นอย่างชัดเจน ไม่นึกโกรธนึกเกลียดใครทั้งนั้น คิดถึงความดง่เขลาเบาปัญญาในการกระทำบางอย่างของตนในอดีตอย่างเสียใจ และไม่เข้าใจว่าทำไปได้อย่างไร พร้อมกับขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย และสัญญากับตัวเองว่า ชาตินี้จะไม่สร้างบาปสร้างเวรอย่างไร้สติเช่นนั้นอีก ความรู้สึกนึกคิดที่มากมายเหล่านี้ มันพรั่งพรูออกมาในช่วงเวลาที่สั้นมาก น้ำตาแห่งความรู้สึกหลายอย่างดังกล่าวปน ๆ กันเริ่มไหลรินออกมาอาบสองแก้ม นั่งสะอึกสะอื้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนอยู่ประมาณ ๒ นาที เสียงดังลอดออกไปถึงระเบียงหน้าห้อง ซึ่งญาติธรรมหลายคนกำลังปฏิบัติกรรมฐานอยู่ คล้ายกับจะมีคนซุบซิบกันว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับผม แม้จะบรรยายความรู้สึกเหล่านี้ให้ละเอียดและชัดเจนมากว่านี้ได้ยาก แต่บอกได้เลยว่า โดยรวม ๆ แล้วมันเป็นความรู้สึกที่ดีงามมาก ปีติ อิ่มเอม รู้บาปบุญคุณโทษ น่าถนอมไว้นาน ๆ ประมาณ ๑๔.๐๐ น. เสียงกริ่งดังขึ้นบอกว่า ถึงเวลาเปลี่ยนจากการนั่งสมาธิ เป็นการเดินจงกรมแล้ว กระผมยังนั่งต่ออีกราว ๒-๓ นาที เพื่อดื่มด่ำความรู้สึกที่ดีงามเหล่านั้น พร้อมกับอธิษฐานในใจว่า ก่อนกลับจากวัดอัมพวันในวันเสาร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๘ ขอให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์เช่นนี้อีก การปฏิบัติต่อจากนั้นเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งด้านสติและสมาธิ กายและใจ ดูเบาสบายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยืนหนอ ๕ ครั้ง ที่เคยรู้สึกว่า เป็นยาหม้อใหญ่ พยายามเท่าไรก็ทำไม่ค่อยได้สักที พบภายหลังว่าสัมผัสได้ชัดเจนกว่าเดิมมาก แต่จนถึงปัจจุบัน กระผมก็ยังคิดว่ายากอยู่นะครับ คงต้องมานะบากบั่นกันต่อไปอีก นับแต่การปฏิบัติในวันนั้น เวลาที่เหลืออยู่ ๒ วันก่อนกลับบ้านเป็นช่วงที่มีความสุขมาก เห็นอะไรเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีไปเสียหมด ผู้คนก็ดูน่ารักใคร่ทุกคน ไม่นึกโกรธเกลียดหรือริษยาพยาบาทใครทั้งนั้น ปัญญาความคิดก็แจ่มใส คิดอะไร ๆ ได้เป็นช่องเป็นฉาก แม้แต่การแต่งกลอนในใจเพื่อสรรเสริญพระคุณหลวงพ่อจรัญที่กระผมใช้เป็นบทนำในข้อเขียนอีกเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ กระผมคิดได้ในโอกาสเกือบทั้งหมดด้วยเวลาที่ไม่นานนักในช่วงนั้น มาแต่งเติมในภายหลังเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แรงอธิษฐานที่อยากสัมผัสความรู้สึกปิติระหว่างการปฏิบัติเช่นนั้นอีก ได้ส่งผลให้พบจริงในวันต่อมา
รอบค่ำหลังจากลาศีลแล้ว ก็เริ่มปฏิบัติอีกราวเกือบสองชั่วโมง (ประมาณทุ่มครึ่งถึงสามทุ่มเศษ) อารมณ์และความรู้สึกช่วงนี้แตกต่างจากรอบวันที่ผ่านมาเกือบสิ้นเชิง รู้สึกเฉย ๆ ชา ๆ อย่างไรบอกไม่ถูก ความปีติอิ่มเอิบทั้งหลายจางหายไปเกือบหมด กลับรู้สึกสงสัยว่าประสบการณ์ที่เพิ่งได้รับมาสด ๆ ร้อน ๆ นั้น “มันยิ่งใหญ่จริงหรือ” แล้วก็ตอบตัวเองว่า “ก็งั้น ๆ แหละ เราคงรู้สึกวูบวาบไปเองกระมัง” สติและสมาธิอ่อนกว่าการปฏิบัติในรอบวันที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่มีเวทนามากมายนัก ความฟุ้งซ่านมีบ้าง แต่ไม่มากเท่าวันแรก ๆ ของการปฏิบัติ คืนนี้นอนค่อนข้างดึก ประมาณ ๕ ทุ่ม เห็นจะได้หลับสนิทดีพอสมควร
ก่อนกลับบ้านตอนเย็นวันเดียวกัน ได้มีโอกาสพบและกราบแทบเท้าหลวงพ่อ ท่านกล่าวทักขึ้นว่า “สำเร็จแล้ว ได้ผลแล้วนะ” ทำให้กระผมดีใจมาก ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ได้ประสบมานั้นมิใช่ “วิปัสสนึก” ท่านยังกรุณาแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติมอีกมากทีเดียว ทั้งแนวทางที่กระผมสมควรปฏิบัติต่อไป รวมทั้งหัวข้อธรรมะเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าที่กระผมได้เคยศึกษามาแล้ว นับเป็นการปิดฉากที่สมบูรณ์มากในการปฏิบัติกรรมฐานครั้งที่ ๓ ของกระผม ณ วัดอัมพวันแห่งนี้ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ความเจริญในพุทธธรรมสัมมาปฏิบัติเท่าที่กระผมได้รับมาแล้วนี้ เป็นเพราะอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และบารมีของหลวงพ่อจรัญโดยแท้ แม้จะดูน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่กระผมยังเข้าไม่ถึง แต่นับเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับตัวของกระผมเอง และเชื่อว่า จะเป็นพื้นฐานให้กระผมมีความก้าวหน้าต่อไปจึงขอรักษาไว้ยิ่งชีวิต และตั้งหน้าปฏิบัติให้ได้รู้ได้เห็นสัจธรรมต่าง ๆ ที่ละเอียดและลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ตามที่กำลังและโอกาสจะอำนวยให้ เพื่อเป็นการตอบปริศนาที่กระผมใช้เป็นชื่อของบทความนี้ที่ว่า “ข้าพเจ้าได้อะไรบ้างจากการปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน?” กระผมขออนุญาตกล่าวโดยสรุปดังนี้ ๑. กระผมมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิตจิตใจ ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ๒. กระผมมีความรักใคร่สงสารและให้อภัยผู้อื่นมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ใด ๆ ทั้งที่เดิมกระผมก็มิได้มีจิตใจเหี้ยมโหดหรือใจดำอำมหิตเท่าใดนัก กล่าวคือการปฏิบัติกรรมฐานช่วยให้จิตใจของกรผม มีความอ่อนโยนและเปี่ยมด้วยเมตตาปรานีมากยิ่งขึ้นไปอีก ๓. กรผมมีความสำนึกในบาป-บุญ-คุณ-โทษมากยิ่งขึ้น เดิมทีกระผมก็มิใช่เป็นคนใจบาปหยาบช้าอะไรนัก แต่การปฏิบัติกรรมฐานช่วยให้สำนึกที่ดีงามต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่แล้วมีความเข้มข้นและละเอียดอ่อนมากขึ้น ๔. ความคิดจิตใจรวมทั้งสติปัญญาและความอุตสาหะพากเพียรของกระผม มีความลึกซึ้ง มั่นคงและเข้มแข็งกว่าแต่ก่อน กระผมทำงานต่าง ๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิมในช่วงเวลาพอ ๆ กัน ทั้งยังใช้เวลานอนน้อยลงจากคืนละ ๖-๗ ชั่วโมงเหลือประมาณ ๕ ชั่วโมง ๕. เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ กระผมมีความกระหายใคร่รู้และมีความปรารถนาที่จะเจริญรุ่งเรืองในพุทธธรรมสัมมาปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก จึงพยายามหาโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในด้านการเจริญกุศลภาวนา
|
ป้ายกำกับ:
กฏแห่งกรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น